สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน กฏหมายที่ดิน,กฏหมายอาคารชุด

       

   สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน  

สำนักงานวัชรธรรมทนายความฯ ยินดีให้บริการท่านด้วยประสบการณ์ในวิชาชีพ ให้คำปรึกษาทำโครงการบ้านจัดสรร คอนโด ขาย สร้าง โอน ครบวงจร                                                                                                                                                                                                                                                                    
 

   

    





 สถิติวันนี้ 38 คน
 สถิติเมื่อวาน 212 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
6481 คน
21564 คน
2733092 คน
เริ่มเมื่อ 2008-11-20


คำกล่าวนำสมุดเยี่ยมชม
คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สมุดเยี่ยมชม


ค่าส่วนกลางหมู่บ้าน (ต่อ)
ขอบคุณ คุณวัชรพล มากครับ สำหรับคำตอบ ครับ

ผมขอสรุปคำตอบ ครับ ว่าใช่หรือไม่ ครับ

1.ลูกบ้านควรรีบรวมตัวกันจัดตั้ง นิติบุคคล ของหมู่บ้านเองใช่ไหมครับ เพราะ ในหมู่บ้าน ยังมีบ้านที่ยังไม่ได้ขายอีกประมาณ 200 หลัง เราก็จะสามารถเก็บเงินค่าส่วนกลาง จากเจ้าของโครงการ ได้ใช่ไหม ครับ (หลังละ 1500/เดือน)
2.ถ้าเรา ตั้งนิติบุคคลเอง เราก็สามารถ เปลี่ยน ผู้จัดการคนเดิม ได้ใช่ไหมครับ
3.ณ ตอนนี้ นิติ ที่โครงการตั้งไว้ ไม่สามารถ นำเงินไปจ่ายค่าเงินเดือนคนสวน ที่ดูแล สนามหญ้า ต้นไม้รอบหมู่บ้าน ใช่ไหม ครับ
โดย อาคม IP: xxx [ 2016-09-20 ]

คำตอบจาก Webmaster
คำตอบต่อไปนี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า โครงการจัดสรรตามที่ถามเป็นโครงการจัดสรรที่ขออนุญาตจัดสรรตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 (ไม่ใช่เป็นการขออนุญาตจัดสรรตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ก่อนปี 2543 เพราะขั้นตอนการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแตกต่างกัน)
1. การจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามกฎหมายจัดสรรจะต้องมีหลักเกณฑ์ครบทุกข้อดังต่อไปนี้
1.1 ผู้จัดสรรที่ดิน (เจ้าของโครงการ) จะต้องดูแลบำรุงรักษาสาธารณูปโภคครบกำหนดระยะเวลาที่ขออนุญาตต่อคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน จำบำรุงรักษากี่ปีก็ได้ แต่ผู้จัดสรรที่ดินส่วนใหญ่จะระบุไว้ 1 ปี เพราะมีประกาศของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางบังคับไว้ว่า อย่างน้อยต้อง 1 ปี ถามว่า 1 ปี นับจากวันใด ระยะเวลาดังกล่าวนับจากวันที่ผู้จัดสรรที่ดินได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคในโครงการแล้วเสร็จ 100% ตราบใดที่โครงการยังก่อสร้างสาธารณูปโภคไม่แล้วเสร็จ เช่น ถนนยังไม่เสร็จ 100% ท่อระบายน้ำยังไม่เสร็จ 100% (เสร็จเป็นบางส่วน) เช่นนี้ ระยะเวลาดังกล่าวจะเริ่มนับไม่ได้
1.2 ผู้จัดสรรที่ดินจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้ลูกค้าไปแล้วไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผังโครงการ สมมติว่า โครงการของคุณมีบ้าน 400 หลัง โอนแล้ว 100 หลัง เช่นนี้ ยังจัดตั้งไม่ได้ จะต้องโอนไปแล้ว 201 หลังจึงจะเข้าเกณฑ์ตามข้อนี้
1.3 ผู้จัดสรรที่ดินที่ประสงค์จะพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคจะต้องยื่นความประสงค์ต่อคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน เพื่อตรวจสอบสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นตามแผนผังและโครงการว่ายังคงมีสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้น
1.4 แจ้งให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกรายทราบพร้อมบัญชีทรัพย์สินที่เป็นสาธารณูปโภคเพื่อดำเนินการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามกฎหมายหรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่นเพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการและดูแลบำรุงรักษา
(กำหนดเวลาให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรต้องจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ให้แล้วเสร็จแต่ต้องไม่น้อยกว่า 180 วันนับแต่วันที่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรายสุดท้ายได้รับแจ้งจากผู้จัดสรรที่ดิน)
เมื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ นิติฯ มีหน้าที่เรียกเก็บเงินจากลูกบ้านตามกฎหมาย
(ที่มาของข้อมูล ระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางว่าด้วยการโอนสาธารณูปโภคให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่นและการขออนุมัติดำเนินการเพื่อการบำรุงรักษษสาธารณูปโภค หรือดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินให้เป็นสาธารณประโยชน์ พ.ศ. 2559 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นมา)

ข้อสังเกตุของวัชรพล วัชรตระกูล Web master จะต้องเป็นกรณีที่ผู้จัดสรรประสงค์จะพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เท่านั้น หากผู้จัดสรรไม่ประสงค์จะพ้นจากหน้าที่ดังกล่าว ก็จะไม่มีการแจ้งให้ลูกบ้านดำเนินการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจะจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเองไม่ได้ จนกว่าผู้จัดสรรที่ดินจะมีหนังสือแจ้งให้ลูกบ้านดำเนินการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเท่านั้น

2. หากจัดตั้งได้ ก็เปลี่ยนผู้จัดการคนเดิมได้ การควบคุมและบริหารจัดการจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร

3. คัดคำตอบมาจากเมนู "คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร" ที่อยู่ด้านซ้ายในเว็บนี้ ซึ่งรวบรวมมาจากเว็บไซด์ถาม-ตอบของกรมที่ดิน

ถาม ค่าใช้จ่ายในการจ้างคนงานดูแลสวนสาธารณะเป็นค่าใช้จ่ายประเภทใด
ตอบ คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางพิจารณาวินิจฉัยในการประชุมครั้งที่ 9/2548 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 บัญญัติไว้ว่า “สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวน สนามเด็กเล่น ให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นต่อไป……..ฯลฯ…….” ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบำรุงรักษาสวนสาธารณะ เช่น ค่าจ้างคนงานดูแลรักษาสวนสาธารณะ ค่ารดน้ำต้นไม้ ตัดและตกแต่งกิ่งไม้ ใส่ปุ๋ยพรวนดินและกวาดเก็บใบไม้ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้น จึงเป็นค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคและเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ผู้จัดสรรที่ดินจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไม่ได้
โดยคุณ วัชรพล วัชรตระกูล [ 2016-09-20 ] ตอบ 1425
คำเตือนเกี่ยวกับการใช้สมุดเยี่ยมชม


Copyright (c) 2008 by Vatchara Thamma Land Law Office Company Limited.