สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน กฏหมายที่ดิน,กฏหมายอาคารชุด

       

   สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน  

สำนักงานวัชรธรรมทนายความฯ ยินดีให้บริการท่านด้วยประสบการณ์ในวิชาชีพ ให้คำปรึกษาทำโครงการบ้านจัดสรร คอนโด ขาย สร้าง โอน ครบวงจร                                                                                                                                                                                                                                                                    
 

   

    





 สถิติวันนี้ 16 คน
 สถิติเมื่อวาน 120 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2935 คน
55967 คน
2767495 คน
เริ่มเมื่อ 2008-11-20

การอายัดที่ดิน



มาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 เดิม ถูกยกเลิกโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2543และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้

"ผู้ใดมีส่วนได้เสียในที่ดินใดอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียน หรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ มีความประสงค์จะขออายัดที่ดิน ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเอกสารหลักฐานที่ผู้ขอได้นำมาแสดงแล้ว ถ้าเห็นสมควรเชื่อถือก็ให้รับอายัดไว้มีกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่สั่งรับอายัด เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าการอายัดสิ้นสุดลง และผู้นั้นจะขออายัดซ้ำในกรณีเดียวกันอีกไม่ได้

ถ้าผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านว่า การอายัดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบสวนพยานหลักฐานเท่าที่จำเป็น เมื่อเป็นที่เชื่อได้ว่า ได้รับอายัดไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งยกเลิกการอายัดนั้น และแจ้งให้ผู้ขออายัดทราบ"

การอายัดนั้น จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะให้มีการระงับการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้บุคคลผู้มีสิทธิอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียน หรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ ไปดำเนินการทางศาล

ผู้ที่จะขออายัดที่ดินได้จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ โดยยื่นคำขออายัดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ส่วนกรณีอย่างไรจะถือว่ามีส่วนได้เสียดังกล่าวนั้น จะต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป โดยถือหลักว่าต้องพิจารณาดูว่าสิทธิที่อ้างมาเพื่อขออายัดนั้น เกี่ยวกับสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินนั้นโดยตรงหรือไม่ เช่น เรื่องการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องสิทธิการรับมรดก เป็นต้น

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ได้รับคำขอแล้ว ก็จะดำเนินการสอบสวนเอกสารหลักฐานที่ผู้ขอได้นำมาแสดง ถ้าเห็นสมควรเชื่อก็จะรับอายัดไว้มีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่สั่งรับอายัด โดยให้ผู้ขออายัดไปดำเนินการทางศาล คือ ไปฟ้องร้องต่อศาลภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งรับอายัด หมายความว่า อายัดเพื่อไปฟ้องร้องต่อศาล ถ้าผู้ขออายัดได้ไปดำเนินการทางศาลแล้ว ผู้ขออายัดจะต้องร้องขอต่อศาลให้สั่งอายัดที่ดินดังกล่าว เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้อายัดที่ดินดังกล่าวแล้ว ผู้ขออายัดก็จะต้องนำคำสั่งอายัดของศาลมายื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอายัด การอายัดโดยคำสั่งของศาลนั้นก็จะมีผลใช้บังคับได้ต่อไป จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการไปตามควรแก่กรณี

ถ้าผู้ขออายัดไม่ฟ้องร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลา 30 วัน หรือไม่ได้ร้องขอต่อศาลให้สั่งอายัดที่ดินดังกล่าว เมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งรับอายัด ให้ถือว่า การอายัดนั้นสิ้นสุดลง พนักงานเจ้าหน้าที่จะจำหน่ายเรื่องนั้นเสีย และผู้นั้นจะขออายัดสำหรับกรณีเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ เพราะเป็นอายัดซ้ำ

อายัดซ้ำ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน หมายถึง บุคคลคนเดียวหรือต่างคนจะมาขออายัดที่ดินแปลงเดียวกัน ในกรณีเดียวกัน สองครั้งไม่ได้

ตัวอย่าง นายดำและนายแดงร่วมกันทำสัญญาซื้อที่ดินจากนายฟ้า ต่อมานายฟ้าผิดสัญญา นายดำได้มาขออายัดที่ดินแปลงดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่รับอายัดไว้ 30 วัน เมื่อครบกำหนด 30 วันแล้ว นายดำยังไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งอายัดที่ดิน นายแดงจะมาขออายัดที่ดินแปลงดังกล่าวอีกไม่ได้ เพราะเป็นอายัดซ้ำ

การสิ้นสุดของการอายัด การรับอายัดที่ดินเป็นอันสิ้นไปเมื่อ

  1. เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 30 วัน นัแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งรับอายัด
  2. ศาลสั่งให้ถอนการอายัด
  3. ศาลได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดเกี่ยวกับคดีที่ได้ฟ้อง
  4. ผู้มีส่วนได้เสียได้คัดค้านว่า การอายัดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้สอบสวนพยานหลักฐานเท่าที่จำเป็นแล้ว เมื่อเป็นที่เชื่อได้ว่า เป็นการรับอายัดไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งยกเลิกการอายัดนั้น

หลักเกณฑ์การอายัดตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

  1. การยื่นคำขออายัด ผู้ขออายัดต้องยื่นคำขออายัดต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ สำนักงานที่ดิน ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่

  2. ทรัพย์ที่จะขออายัดได้มีเฉพาะแต่ที่ดินเท่านั้น ส่วนอสังหาริมทรัพย์อื่น เช่น ตึก โรงเรือน ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะขออายัดได้ การขออายัดที่ดิน แม้ในที่ดินจะมีสิ่งปลูกสร้าง
    รวมอยู่ด้วย ก็อายัดได้เฉพาะที่ดินเท่านั้น

  3. ประเด็นที่ขออายัดจะต้องไม่มีการยื่นฟ้องต่อศาล เพราะการขออายัดตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นการอายัดเพื่อไปดำเนินการทางศาล หากฟ้องศาลแล้ว
    จะมาขออายัดไม่ได้

  4. ผู้ขออายัดต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินที่ขออายัดอันอาจจะฟ้องบังคับ ให้มีการจดทะเบียน หรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินหมายถึง ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินที่ขออายัดโดยตรง เช่น เป็นผู้มี ส่วนได้เสียในฐานะผู้จะซื้อที่ดิน จากเจ้าของที่ดินตามสัญญาจะซื้อขาย เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดิน เป็นต้น
    หากเป็นเจ้าหนี้ธรรมดา เช่น เจ้าหนี้ตามสัญญาเงินกู้ จะมาขออายัดไม่ได้

  5. ผู้ขออายัดนอกจากเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับที่ดินแล้ว จะต้องอยู่ในฐานะ อันอาจจะต้องบังคับ ให้มีการจดทะเบียน หรือเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ด้วย เช่น อาจฟ้องให้มีการจดทะเบียนขายที่ดิน เป็นต้น

  6. การพิจารณาสั่งรับ หรือไม่รับอายัด เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจสอบสวนจากหลักฐาน เท่าที่ผู้ขออายัดนำมาแสดง ไม่ต้องสอบสวนเจ้าของที่ดินผู้ถูกอายัด แต่อย่างใด

  7. เจ้าพนักงานที่ดินจะสั่งรับอายัดได้ ผู้ขออายัดจะต้องมีหลักฐานแสดงว่าตนเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินที่ขออายัดอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียน หรือเปลี่ยนแปลง
    ทางทะเบียน จึงจะสั่งรับอายัดได้ หลักฐานในที่นี้ไม่รวมถึงพยานบุคคล

  8. การรับอายัดมีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานที่ดินสั่งรับอายัด เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวการอายัดสิ้นสุดลงทันที และจะขออายัดซ้ำในกรณีเดียวกันอีกไม่ได้

  9. ในกรณีที่มีผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านว่า การอายัดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบสวนพยานหลักฐานเท่าที่จำเป็น เมื่อเป็นที่เชื่อได้ว่า ได้รับอายัดไว้ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่มี อำนาจยกเลิกการอายัดนั้น

การอายัดห้องชุด

โดยที่มาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หมวด 6 เรื่อง การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและ กฎกระทรวงที่ออกตามบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับห้องชุดโดยอนุโลม ดังนั้น การอายัดห้องชุดจึงต้องนำหลักเกณฑ์อายัดตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาใช้บังคับการอายัดห้องชุดด้วย

คำถาม-คำตอบที่ควรรู้

ถาม  อยากทราบว่าที่ดินที่อยู่ในระหว่างการออกโฉนด โดยได้ทำการรังวัดไปแล้ว (ทำการแบ่งแยกเป็นหลายๆแปลงตามกำสิทธิ ) และกำลังจะมีการโอนเร็วๆนี้ จะถูกอายัดได้หรือไม่
       ตอบ  การยึดหรืออายัดที่ดินนั้นมีได้หลายวิธี เช่น การอายัดที่ดินตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน การสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร หรือการที่ศาลสั่งยึดหรืออายัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และสำหรับที่ดินที่อยู่ระหว่างการออกโฉนดหรือแบ่งแยกก็อาจมีอายัดได้ อย่างไรก็ดี หากคุณหนุ่มต้องการทราบว่า ที่ดินที่ขอออกโฉนดหรือแบ่งแยกไว้แปลงใดมีอายัดตามกฎหมายหรือไม่ ขอให้คุณหนุ่มติดต่อสอบถามพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่โดยตรง

ถาม  ฟ้องศาลแล้ว จึงมาขออายัดที่ดิน ทำได้หรือไม่?
       ตอบ  ตามมาตรา ๘๓ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่ระบุว่า “ผู้ใดมีส่วนได้เสียในที่ดินอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ มีความประสงค์ขออายัดที่ดิน ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๗๑ “คำว่า “อันอาจจะฟ้อง” มีความหมายในตัวเองแล้วว่าอายัดไว้เพื่อจะไปฟ้องศาล มิใช่ฟ้องแล้วจึงมาอายัด และโดยเจตนาแล้วการอายัดไว้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ก็เพื่อช่วยเหลือผู้มีส่วนได้เสียอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิทางศาลได้ทันท่วงที เพราะอย่างน้อยการฟ้องร้องต่อศาลจะต้องมีกรรมวิธีอันอาจจะใช้เวลา ส่วนเมื่อผู้ขออายัดได้ฟ้องคดีต่อศาลแล้วถือว่าคดีอยู่ในอำนาจศาล ผู้ขอชอบที่จะขอให้ศาลสั่งยึดหรืออายัดตามวิธีการชั่วคราวก่อนศาลพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ นอกจากนี้กรณีมาตรา ๘๓ วรรคสองเดิมก่อนแก้ไขใหม่มีข้อความระบุว่า “เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนพยานหลักฐานที่ผู้ขอนำมาแสดงให้ปรากฏแล้ว ถ้าเห็นสมควรเชื่อถือก็ให้รับอายัดไว้ได้มีกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ขออายัด โดยให้ผู้นั้นไปดำเนินการทางศาล” แต่ตามมาตรา ๘๓ ซึ่งแก้ไขใหม่ไม่มีข้อความดังกล่าวระบุไว้ก็เนื่องมาจากตามมาตรา ๘๓ เดิมก่อนแก้ไข ผลของการอายัดตามประมวลกฎหมายที่ดินจะคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งให้ถอนการอายัด หรือมีคำพิพากษา หรือคำสั่งถึงที่สุด หาก ผู้ขอไปดำเนินการทางศาลแล้วนำหลักฐานการยื่นฟ้องพร้อมสำเนาคำฟ้องในกรณีที่ ขออายัดมาแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับอายัดภายในกำหนดเวลาที่อายัด แต่ตามมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งแก้ไขใหม่ (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๔๓) การอายัดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน จะสิ้นสุดลงทันทีเมื่อพ้นกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งรับอายัด ไม่ว่าผู้ขอจะได้ไปดำเนินการทางศาลหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่มีผลให้การอายัดมีอยู่ต่อไป จึงไม่มีข้อความดังกล่าวระบุไว้ เมื่อข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ปรากฏว่า นาย ก. ได้ฟ้องต่อศาลในประเด็นที่ขออายัดก่อน แล้วจึงมาขออายัดที่ดิน กรณีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรับอายัดได้ตามมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน คำสั่งไม่รับอายัดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจึงชอบแล้ว

ถาม  ฟ้องศาลแล้ว ถอนฟ้อง จะมาขออายัดที่ดินได้หรือไม่?
       ตอบ  ผู้ขออายัดไปดำเนินคดีทางศาลก่อนแล้วจึงมาขออายัด เจ้าพนักงานที่ดินจึงมีคำสั่งไม่รับอายัด แต่ต่อมาผู้ขออายัดได้ถอนฟ้องคดี ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว ผลแห่งการถอนฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องและทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการฟ้องเลย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๖ ดังนั้น เมื่อผู้ขอมายื่นคำขอใหม่ก็ต้องถือว่าการขออายัดรายนี้มิใช่เป็นการใช้สิทธิ ทางศาลก่อนแล้วจึงมาขออายัดใหม่ และเมื่อ ส. ซึ่งเป็นหลานของเจ้ามรดกขออายัดโดยอ้างว่าการโอนมรดก ไม่ชอบ ผู้ขอเป็นผู้มีส่วนได้เสียเพราะเป็นผู้รับมรดกตกทอดในที่ดินที่ขออายัด ดังนี้ เห็นว่าผู้ขออายัดเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรับอายัดได้

ถาม  เจ้าพนักงานที่ดินรับอายัดแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอายัดซ้ำได้หรือไม่                                                                                                                                                                                                                                                                              

ตอบ  การขออายัดที่ดินตามมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามคำขอของ ส. มีผลเป็นการห้ามจดทะเบียนขายทอดตลาดที่พิพาทตามคำสั่งศาลหรือไม่ ประเด็นนี้มีคำพิพากษาฎีกา ที่ ๕๒๘/๒๕๐๙ วินิจฉัยว่า การที่เจ้าพนักงานที่ดินรับอายัดที่ดินไว้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามศาลมิให้ยึดหรืออายัดซ้ำ จึงไม่เป็นเหตุขัดขวางมิให้จำเลยขอให้ศาลบังคับคดี กรณีมิใช่เป็นการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดซ้ำตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ.มาตรา ๒๙๐ ดังนั้น แม้หากข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการอายัดที่ดิน อยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘๓ ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ในคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งได้ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด และมีผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาด เจ้าหน้าที่ก็ต้องจดทะเบียนให้ ไปตามนัยคำพิพากษาฎีกาข้างต้น ประกอบกับสิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาด ตามคำสั่งศาลย่อมไม่เสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดย คำพิพากษาตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๓๐ แม้ที่ดินดังกล่าวมิใช่ของจำเลยก็หาทำให้การซื้อจากการขายทอดตลาดนั้นเป็นโมฆะไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๒/๒๕๓๐) เมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้ซื้อที่ดินได้จากการขายทอดตลาด ตามคำสั่งศาลโดยไม่สุจริตอย่างไรแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นการซื้อโดยสุจริต จึงจดทะเบียนให้แก่ผู้ขอต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ควรรู้

คำพิพากษาฎีกาที่ 6840/2537 การอายัดตาม ป. ที่ดิน มาตรา 83 มิได้มีบทบัญญัติถึงผลของการอายัดโดยชัดแจ้งว่าหากมีการโอนที่ดินยังบุคคลภายนอก ในระหว่างอายัดแล้ว นิติกรรมการโอนไม่มีผลบังคับดังเช่นการอายัดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น นิติกรรมโอนที่พิพาทระหว่างการอายัด ยังถือไม่ได้ว่าเป็นนิติกรรมการโอนที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและทำให้นิติกรรมการโอน ดังกล่าวเสียไป เพราะถ้าผู้รับโอนมาโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต ทั้งมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบแล้ว นิติกรรมการโอนดังกล่าวย่อมสมบูรณ์มีผลผูกพันบังคับกันได้ หาทำให้นิติกรรมการโอนเสียไปไม่ การได้มาซึ่งที่พิพาทของจำเลยระหว่างอายัด จึงสมบูรณ์มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 3084/2538 การที่พนักงานเจ้าหน้าที่รับอายัดที่ดินตาม ป. ที่ดินมาตรา 83 ไว้แล้ว และผู้ขออายัดไปดำเนินคดีทางศาลภายในกำหนดเวลา การอายัดก็ยังคงมีผลอยู่ต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งให้ถอนอายัดหรือมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งถึงที่สุด เมื่อคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและไม่มีคำสั่งศาลให้ถอนการอายัด การอายัดจึงยังคงมีอยู่ตาม มาตรา 83 วรรคสอง(แนววินิจฉัยตามมาตรา 83 กฎหมายเก่า)

คำพิพากษาฎีกาที่ 5155/2539เจตนารมณ์ของการอายัดที่ดินตาม ป. ที่ดิน มาตรา 83 มีความมุ่งหมายเป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินในอันที่จะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง ทางทะเบียนที่ดินไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะมีการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้นแล้วเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ขออายัดและเจ้าของที่ดินมิให้ได้รับ ความเสียหายเกินกว่าจำเป็น เพราะถ้าไม่มีการอายัดและปล่อยให้มีการจดทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้เรื่อยๆ ไป ผู้มีส่วนได้เสียอาจต้องฟ้องร้องเจ้าของที่ดินและ ผู้รับโอนต่อๆ ไป ถ้าชนะคดีก็ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายอีกมาก การอายัดที่ดินจึงมีผลเป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินในการจดทะเบียน เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินทุกประเภทที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ขออายัดได้ มิได้จำกัดเฉพาะประเภทที่พิพาทกันเท่านั้น ดังนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานที่ดินจึงมีอำนาจปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของโจทก์ให้แก่ ก.ได้ เพราะ ส.ได้ขออายัดที่ดินพิพาทต่อจำเลยที่ 2 โดยอ้างสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทกับเจ้าของที่ดินและอยู่ระหว่างดำเนินการฟ้องโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้าของที่ดินให้จดทะเบียนการให้เช่าต่อไปตามสัญญา

Source: www.dol.go.th

Copyright (c) 2008 by Vatchara Thamma Land Law Office Company Limited.