สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน กฏหมายที่ดิน,กฏหมายอาคารชุด

       

   สำนักงานวัชรธรรมทนายความและธุรกิจที่ดิน  

สำนักงานวัชรธรรมทนายความฯ ยินดีให้บริการท่านด้วยประสบการณ์ในวิชาชีพ ให้คำปรึกษาทำโครงการบ้านจัดสรร คอนโด ขาย สร้าง โอน ครบวงจร                                                                                                                                                                                                                                                                    
 

   

    





 สถิติวันนี้ 9 คน
 สถิติเมื่อวาน 120 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
2928 คน
55960 คน
2767488 คน
เริ่มเมื่อ 2008-11-20

คำถาม-คำตอบที่ควรรู้เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ




ถาม  ในกรณีที่ต้องการขายบ้านซึ่งเจ้าบ้านไม่ใช่เจ้าของโฉนดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่บ้านหลังนั้นมีเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ หมายเหตุ ! เจ้าบ้านและเจ้าของโฉนดเป็นคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียน ซื้อบ้านในนามภรรยาแต่เจ้าบ้านเป็นสามี
       ตอบ  การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะต้องเป็นกรณีเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดิน มีชื่อในทะเบียนบ้าน หากเป็นคู่สมรสไม่ได้จดทะเบียนสมรสในขณะที่ซื้อก็ไม่ได้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด

ถาม  ถ้าขายบ้านที่อาศัยอยู่นานเกินกว่า 10 ปี แล้ว แต่ต้องการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ร้อยละ 0.11 เนื่องจากว่าถ้าเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้วไม่ต้อง เสียค่าอากรแสตมป์อีกร้อยละ 0.5 ได้หรือไม่
       ตอบ  การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญที่ผู้ขายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไม่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2542 เมื่อผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไม่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่อาจเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะได้ แต่ถ้าคุณต้องการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะเห็นว่า การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในขณะนี้ ถูกกว่าอากรแสตมป์ ขอความกรุณาสอบถามกรมสรรพากรหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องภาษีอากรโดยตรงจะดีกว่า ตอบโดย สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน

ถาม  ผมพึ่งจะซื้อที่ดินแปลงหนึ่งร่วมกับเพื่อนโดยใส่ชื่อสองคน ตอนนี้ต้องการแบ่งโฉนดออกเป็น 2 แปลง(เนื้อที่ไม่เท่ากัน)โดยใส่ชื่อแยกคนละแปลง ถามว่าตอนแบ่งโฉนดและใส่ชื่อคนละแปลงนี่จะต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะอีกหรือเปล่า
       ตอบ  หากเป็นการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะ

ถาม  สัญญาจะซื้อจะขายที่ทำกับบริษัทเป็นหนังสือสัญญามาตรฐานของการจัดสรรที่ดิน ซึ่งในข้อ 9 ว่าด้วย ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ อันมีสาระสำคํญดังนี้ 9.1 ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดิน/หนังสือรับรองการทำประโยชน์ รวมทั้งค่าภาษีอากรในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างผู้จะขายเป็นผู้ออกทั้งสิ้น 9.2 1 ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ผู้จะซื้อและผู้จะขายเป็นผู้ออกเท่ากันสองฝ่าย ดังนั้นตามสัญญานี้ ภาษีธุระกิจเฉพาะเป็นค่าใช้จ่ายที่ผมจะต้องจ่ายหรือไม่ครับ
       ตอบ  ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นค่าภาษีอากรอย่างหนึ่ง ดังนั้น ผู้จะขายจึงเป็นผู้ออกตาม ข้อ 9.1

ถาม  การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญที่ผู้ขายมีชื่ออยู่ ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ในกรณีที่ที่ดินและอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างตาม (๔) ได้มาไม่พร้อมกัน กำหนดเวลาห้าปี ให้ถือตามระยะเวลาการได้มาซึ่งที่ดินหรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้มาภายหลัง อยากถามว่า การได้มาไม่พร้อมกัน หมายความว่าอย่างไรคะ เช่น ไปโอนที่ดินเป็นของดิฉันวันที่ 5 มค. 2551 ต้องไปย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่บ้านเลขที่นี้ ในวันที่ 5 มค. 2551 เลยเหรอคะ ถ้าไปย้ายวันอื่น จะถือว่า ได้มาไม่พร้อมกัน ใช่มั้ยคะ ขอบคุณมากค่ะ
       ตอบ  ไม่ใช่ กรณีบ้านและที่ดินได้มาไม่พร้อมกันหมายความว่าตอนซื้อที่ดินเปล่า แล้วมาขออนุญาตปลูกบ้านในภายหลัง หรือซื้อเฉพาะ ที่ดินก่อน หรือซื้อบ้านก่อนแล้วมาโอนบ้านหรือที่ดินในภายหลัง

ถาม  กรมโยธาธิการได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ เพื่อ ก่อสร้างโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดนครอินทร์ และถนนต่อเชื่อม สายติวานนท์-เพชรเกษม-รัตนาธิเบศร์โดยได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินโฉนด แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ก.จำกัดบริษัทฯ จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อขาย จำนอง จำนำ สังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรมโยธาธิการได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อยว่า ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนเวนคืนในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงได้ เนื่องจากการจดทะเบียนเวนคืนที่ดินของนิติบุคคลต้องเรียกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายพร้อมทั้งภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% จากเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์กรมโยธาธิการหารือว่า บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ และหน่วยงานใดจะเป็นผู้เรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ
       ตอบ  กรณีบริษัทฯ ได้รับค่าเวนคืนที่ดินจากกรมโยธาธิการตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นการ “ขาย”ตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร จากรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามมาตรา 91/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 28. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ซึ่งผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์พร้อมกับชำระภาษีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และกรมที่ดินต้องเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อกรมสรรพากร ตามมาตรา 91/10 วรรคห้า และวรรคหก แห่งประมวลรัษฎากร

ถาม  กรณีการรับรู้รายได้จากการที่บริษัทฯ ขายอสังหาริมทรัพย์ ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน
       ตอบ   1.บริษัทฯ ขายที่ดินให้ผู้ซื้อ บริษัทฯ ต้องคำนวณราคาขายเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลให้เป็นไปตามราคาตลาดในวันที่มีการโอน ทั้งนี้ หากการขายที่ดินดังกล่าวต่ำกว่าราคาตลาด เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดในวันที่มีการโอนได้ ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร

         2.บริษัทฯ ขายที่ดินให้ผู้ซื้อ บริษัทฯ จะต้องใช้ราคาที่ได้รับหรือราคาตามสัญญาขายที่ดิน แต่ไม่น้อยกว่าราคาพึงได้รับตามราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอน แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่าในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร

ถาม  บริษัทฯ ประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์ โดยจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะและยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายอสังหาริมทรัพย์และภาษีเงินได้นิติบุคคล ภายในกำหนดเวลามาตลอด บริษัทฯ หารือว่า

        1. บริษัทฯ จะต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารหลักฐานการบันทึกบัญชีไว้กี่ปี และเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว จะต้องขออนุมัติทำลายสมุดบัญชีและเอกสารต่อกรมสรรพากรหรือไม่

         2. อายุความออกหมายเรียกตรวจสอบและอายุความประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะมีกำหนดเวลาอย่างไร
       ตอบ  1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารหลักฐานการบันทึกบัญชีไว้ 5 ปีนับแต่วันปิดบัญชี ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543
                   2. กรณีตาม 2.
                       2.1 ภาษีเงินได้
                             (1) กรณีที่มีการยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกภายในสองปี นับแต่วันที่ยื่นรายการ ไม่ว่าการยื่นรายการนั้นจะได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไป ทั้งนี้ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง เว้นแต่กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษี อธิบดีจะอนุมัติขยายเวลาการออกหมายเรียกเกินกว่าสองปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ แต่กรณีขยายเวลาเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีให้ขยายได้ไม่เกินกำหนดเวลาตามที่มีสิทธิขอคืนภาษีอากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
                             (2) กรณีที่มิได้มีการยื่นแบบแสดงรายการ ประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดระยะเวลาการออกหมายเรียกไว้ จึงต้องใช้กำหนดระยะเวลาตามอายุความทั่วไป ที่เจ้าพนักงานมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีได้ภายในสิบปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ ตามมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดไว้ว่า "สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเก็บเอาค่าภาษีอากร ให้มีกำหนดอายุความสิบปี ส่วนสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาหนี้ อย่างอื่นให้บังคับตามบทบัญญัติในลักษณะนี้" ทั้งนี้ อายุความการประเมินเรียกเก็บภาษีสามารถประเมินได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันยื่นแบบแสดงรายการหรือวันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการแล้วแต่กรณี
                      2.2 ภาษีธุรกิจเฉพาะ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะได้ภายใน สิบปีตามกฎหมายมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว โดยไม่ต้องออกหมายเรียกแต่ประการใด

ถาม  ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายที่ดินพร้อมบ้าน ซึ่งสามีได้ย้ายชื่อเข้าอยู่ในทะเบียนบ้านแต่ผู้เดียว:ประเด็นปัญหา :ภริยาได้ซื้อที่ดินพร้อมบ้าน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2533 ได้ให้สามีซึ่งจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 เข้าอยู่อาศัยพร้อมโอนย้ายชื่อเข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ดังกล่าวเมื่อ วันที่ 24 ธันวาคม 2533 ต่อมาได้ขายที่ดินพร้อมบ้านเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2535 การขายที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
       ตอบ  กรณีตามข้อเท็จจริง ซื้อที่ดินพร้อมบ้านภายหลังจากได้จดทะเบียนสมรสกับสามีแล้ว ที่ดินและบ้านดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ถือเป็นสินสมรสซึ่งมีอำนาจจัดการร่วมกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 การที่สามีได้ย้ายเข้าอยู่และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเพียงฝ่ายเดียว เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2533 และได้ขายที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2535 จึงเป็นการขายสินสมรสแม้ผู้ขายจะไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน แต่สามีมีชื่อเพียงฝ่ายเดียว ก็ถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัย ดังนั้นการขายที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าว เข้า ลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยเป็นแหล่งสำคัญ ซึ่งผู้ขายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรและได้อาศัยเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 3(6)(ค) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6)แห่งประมวลรัษฎากร

ถาม  นาย ก. ได้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2533 ต่อมาเมื่อวันที่ 11มกราคม 2537 นาย ก. ถึงแก่ความตาย โดยได้ทำพินัยกรรม แต่งตั้งให้ นาง ข. เป็นผู้จัดการมรดก และมีข้อกำหนดพินัยกรรมกำหนดให้ขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ และหากมีเงินเหลือให้มอบให้แก่ทายาทและเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2538 นาง ข. ในฐานะผู้จัดการมรดก ได้ขายอสังหาริมทรัพย์ไปตามข้อกำหนดพินัยกรรม จึงขอทราบว่า
                   1. อสังหาริมทรัพย์ของผู้ที่ถึงแก่ความตาย เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก และการนับวันได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ควรนับตั้งแต่วันที่เจ้ามรดก (นาย ก.) ได้มา จนถึงวันที่ขาย ซึ่งเกิน5 ปี และจากเหตุผลดังกล่าวเป็นผลให้ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ความเห็นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
                  2. หากพินัยกรรมมิได้ระบุให้จัดการขายอสังหาริมทรัพย์ไว้ จะมีผลแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร
      ตอบ  1. เมื่อบุคคลถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินของผู้ตาย ย่อมเป็นกองมรดก ตามมาตรา 1600 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการที่เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมมีข้อกำหนดให้ผู้จัดการมรดกจัดการขาย อสังหาริมทรัพย์เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ และหากมีเงินเหลือให้มอบให้แก่ทายาท อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวย่อมเป็นทรัพย์สินของกองมรดกที่ผู้จัดการมรดกต้องนำออกขายตามข้อกำหนดในพินัยกรรม จึงไม่ตกทอดไปยังทายาท และไม่เข้าลักษณะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก ตามมาตรา 3 (6) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 เนื่องจากกองมรดกเป็นหน่วยภาษีที่แยกต่างหากจากบุคคลที่ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 77/1 (2) และมาตรา 91/1 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อบุคคลถึงแก่ความตาย ทรัพย์สิน ทุกชนิดของผู้ตายถือเป็นกองมรดก ตามมาตรา 1600 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การที่นาย ก. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2537 ทรัพย์สินของนาย ก. จึงเป็นกองมรดกและเมื่อผู้จัดการมรดกได้จัดการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกองมรดก เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2538 จึงถือได้ว่ากองมรดกได้ขายอสังหาริมทรัพย์ไปภายใน 5 ปี นับแต่วันที่กองมรดกได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นการขาย อสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 กองมรดกจึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
                2. หากพินัยกรรมมิได้มีข้อกำหนดให้ขายอสังหาริมทรัพย์ และได้มีการโอนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้รับพินัยกรรม และทายาทได้ขายอสังหาริมทรัพย์ไปในสภาพเดิม กรณีถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ทายาทผู้รับพินัยกรรมจึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (6) (ข)แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534

ถาม  บริษัท ซี. จำกัด ประกอบกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ในการประกอบกิจการ บริษัทฯ ได้เช่าที่ดินจากบริษัทอื่นตั้งแต่ปี 2545 และได้สร้างอาคารบนที่ดินที่เช่า เพื่อดำเนินกิจการโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ต่อมาบริษัทฯ ได้ขายอาคารดังกล่าวให้แก่ผู้ให้เช่าซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน การขายอาคารดังกล่าวไม่ได้มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เนื่องจากเป็นการขายให้กับเจ้าของที่ดิน บริษัทฯ จึงขอทราบว่า การขายอาคารดังกล่าวเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะใช่หรือไม่
       ตอบ  การขายอาคารของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร หากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไม่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม บริษัทฯ ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ ตามมาตรา 91/2(6) และมาตรา 91/8 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541

ถาม  ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการนำภาษีธุรกิจเฉพาะที่ได้ประเมินไปแล้วไปหักกลบกับเงินภาษีที่มีสิทธิได้รับคืน :บริษัท อ. มีสถานประกอบการประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุดพักอาศัย อาคารชุดสำนักงาน และบ้านจัดสรร ได้จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2534 บริษัทฯ มีรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ต่อมาบริษัทฯ ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2537 ปัจจุบันบริษัทฯ มีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ อาคารลุมพินีทาวเวอร์ ชั้น 36 ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร บริษัทฯ เสียภาษีธุรกิจเฉพาะโดยนำเงินที่ได้รับชำระตามจำนวนงวดที่ผ่อนชำระมาคำนวณเป็นฐานภาษีโดยยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ แต่เจ้าพนักงานประเมินของสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร แจ้งว่า บริษัทฯ ต้องนำราคาประเมินของกรมที่ดินที่สูงกว่ามาเป็นฐานในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ และเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะบริษัทฯ ไปแล้ว โดยบริษัทฯ ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าว และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานฯ ถูกต้องและชอบแล้ว บริษัทฯ ขอทราบว่า กรณีบริษัทฯ ได้ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย เมื่อบริษัทฯ มีสิทธิได้รับเงินภาษีคืน บริษัทฯ ต้องได้รับเงินภาษีเงินได้และดอกเบี้ยรับคืนเต็มจำนวนเสียก่อน เจ้าพนักงานประเมินจะนำภาษีธุรกิจเฉพาะที่ประเมินเพิ่มเติมมาหักกลบกับเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายที่บริษัทฯ ได้รับคืนไม่ได้ เนื่องจากภาษีธุรกิจเฉพาะที่ถูกประเมินเพิ่มเติมยังมิใช่ภาษีอากรคงค้าง จึงนำมาหักกลบกันไม่ได้ บริษัทฯ เข้าใจถูกต้องหรือไม่
       ตอบ  บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายปีภาษี 2540 - 2544 และเจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งคืนภาษีอากร (แบบ ค.20) แล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะบริษัทฯ ไปแล้ว ถือได้ว่าเป็นหนี้ภาษีอากรที่แน่นอน และบริษัทฯ ผู้อุทธรณ์มิได้รับอนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษี เจ้าพนักงานจึงนำหนี้ภาษีอากรดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับเงินภาษีอากรที่ต้องคืนให้บริษัทฯ ได้ตามมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ถาม  : ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้บุตรชอบด้วยกฎหมาย :นาย ก. ได้ซื้อที่ดินจำนวน 2 โฉนด เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2531 ต่อมาได้ยินยอมให้ บุตรชอบด้วยกฎหมายเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว ดังนี้
                    1. วันที่ 10 กรกฎาคม 2535 ยินยอมให้นาวาอากาศตรี ธ. และเรืออากาศเอก อ. บุตรชาย ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 75 ส่วน ในจำนวน 150 ส่วน
                    2. วันที่ 27 ธันวาคม 2537 ยินยอมให้นาวาอากาศโทหญิง ช. และนาวาอากาศโทหญิง ว. บุตรสาว ถือกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของ นาย ก.การยินยอมให้บุตรเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน เนื่องจาก นาย ก. ประสงค์จะให้บุตรชายทั้ง 2 คน ร่วมกันกู้เงินจากธนาคารเพื่อก่อสร้างบ้านพักอาศัยในที่ดินดังกล่าวโดยนำที่ดินไปค้ำประกันด้วย แต่หลังจากที่โอนที่ดินทางทะเบียนแล้วนาย ก.ได้ไปติดต่อขอกู้เงินกับธนาคาร ซึ่งธนาคารแจ้งว่า รายได้ของบุตรชายทั้ง 2 คน ไม่เพียงพอต่อวงเงินที่จะกู้ นาย ก. จึงก่อสร้างบ้านพักอาศัยตามงบประมาณเท่าที่มีอยู่โดยมิได้ใช้เงินกู้จากธนาคาร และต่อมาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2537 นาย ก. ได้ยินยอมให้บุตรสาวอีก 2 คน เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินเฉพาะส่วนของ นาย ก. เพราะต้องการให้บุตรทุกคนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เป็นบ้านพักอาศัย ซึ่งการยินยอมให้บุตรถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว นาย ก.ไม่ได้รับเงินได้หรือค่าตอบแทนใด ๆ จึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณายกเว้นการเก็บภาษีจากการดำเนินการดังกล่าว
       ตอบ  คำว่า “ขาย” ตามบทนิยามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นบทบังคับใน การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น หมายความรวมถึงการให้ หรือจำหน่ายจ่ายโอนไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ กรณีตามข้อเท็จจริงจึงแยกพิจารณาได้ ดังนี้
                   1. กรณีตาม 1. การที่ นาย ก. โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนให้กับบุตรชายทั้ง 2 คน โดยไม่มีค่าตอบแทน ถือเป็นการขายตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2535 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ซื้อที่ดินมาไม่ถึงห้าปี จึงอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 อนึ่ง กรณีขอให้พิจารณายกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น ไม่มีบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรที่จะให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะได้ แต่กรณีมีเหตุอันควรได้รับการผ่อนผัน จึงงดเบี้ยปรับภาษีธุรกิจเฉพาะให้ตามที่ร้องขอ
                  2. กรณีตาม 2. การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนของนาย ก.ให้กับบุตรสาวทั้ง 2 คน ถือเป็นการขายตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ได้กระทำเกินห้าปีนับแต่วันที่ นาย ก. ซื้อที่ดินมา จึงมิใช่เป็นการขาย อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามข้อ 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 การโอนที่ดินดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด
                  อนึ่ง กรณีการโอนกรรมสิทธ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตร ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวตาม 1. และ 2. นั้น ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับข้อ 2 (18) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 155 (พ.ศ. 2525)

ถาม  กรมที่ดินขอหารือ ภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนี้
                  1. การโอนอสังหาริมทรัพย์ทางมรดกที่เจ้ามรดกได้มาเกิน 5 ปี
                     (1) จังหวัดหารือกรณี นางสาว ก. ผู้จัดการมรดกนางสาว ข. ได้ยื่นคำขอ จดทะเบียนโอนมรดกโฉนดที่ดินซึ่งเจ้ามรดกได้ถือครองมาเกิน 5 ปี ให้แก่ตนเองในฐานะทายาทตามพินัยกรรม โดยนางสาว ก. ไม่ใช่ทายาทโดยธรรม กรณีดังกล่าวจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
                    (2) จังหวัด หารือกรณี นาย ต. ผู้จัดการมรดกนาย จ. ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนโอน มรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นางสาว ว. ตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองของนาย จ. พนักงาน เจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบสวนแล้วปรากฏว่า นางสาว ว. เป็นหลานตาของเจ้ามรดก และมารดาของ ผู้รับโอนยังมีชีวิตอยู่ กรณีดังกล่าวจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
              2. การนับระยะเวลาได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ และการรับมรดกของทายาทตามพินัยกรรม
                  (1) กรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองทางมรดก ให้แก่ทายาทผู้รับพินัยกรรมที่ ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมซึ่งได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ การนับระยะเวลาห้าปีนับแต่วันได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น จะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด ถึงเมื่อใด กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่เจ้ามรดกได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นจนถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม หรือนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมจนถึงวันที่ทายาทจดทะเบียนรับโอนมรดก หรือนับตั้งแต่วันที่เจ้ามรดกได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์จนถึงวันที่ทายาทจดทะเบียนรับโอนมรดกนั้น
                  (2) กรณีเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ทายาทชั้นหลาน ในขณะที่ ทายาทชั้นบุตรยังมีชีวิตอยู่ หรือเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในลำดับหลัง ในขณะที่ยังมีทายาทโดยธรรมในลำดับแรกอยู่ จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 4 (6) (จ) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 หรือไม่ เนื่องจากการโอนมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1630 และ 1631 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ว่า ทายาทโดยธรรมที่อยู่ในลำดับต้น หรือชั้นสนิทที่สุดมีสิทธิได้รับมรดกก่อน
       ตอบ  1. กรณีตาม 1 (1) และ (2) การโอนที่ดินได้กระทำเมื่อพ้นกำหนดเวลา 5 ปีแล้ว การ โอนกรณีดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 4 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีทายาทผู้รับพินัยกรรมซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ได้ขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับตามพินัยกรรม แม้ว่าจะขายภายใน 5 ปีนับแต่วันที่เป็นผู้รับพินัยกรรม ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 4 (6) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
                  2. กรณีตาม 2 (1) การนับระยะเวลาการถือครองของผู้โอน ให้นับแต่วันที่ได้มาซึ่ง อสังหาริมทรัพย์ถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม ส่วนการนับระยะเวลาได้มาของทายาทผู้รับโอน ให้นับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม ตามมาตรา 1599 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ว่าจะยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนแก้ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทะเบียนโฉนดที่ดินก็ตาม
                  กรณีตาม 2 (2) การโอนที่ดินโดยทางมรดก ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องเป็น การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ทางมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมเท่านั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 (6) (จ) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 แต่หากเป็นการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยทางมรดกที่เจ้ามรดกได้กระทำเมื่อพ้นกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้มา ไม่ว่าผู้รับพินัยกรรมจะเป็นใครก็ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ถาม  นาง ก. ได้ขายฝากที่ดินที่ได้มาโดยมรดก เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นเงิน 2,900,000 บาทและได้เสียภาษีเงินได้ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดจำนวน 208,013 บาท โดยได้จำนอง และขายฝากที่ดินแปลงนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533, 2535 - 2538 และ 2540 ในการขายฝากครั้งนี้ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานที่ดินว่าจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นจำนวน 139,260 บาท เห็นว่าการขายฝากไม่ใช่การขายเสร็จเด็ดขาด ตนเองมีสิทธิ์ไถ่ถอนคืนได้ภายในเวลาที่กำหนดตามสัญญา จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
       ตอบ  การขายฝากอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นการขายตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้บัญญัติให้การขายฝากถือเป็นการขายไว้โดยเฉพาะแล้ว จะนำบทบัญญัติตามมาตรา 492 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับไม่ได้ หากการขายอสังหาริมทรัพย์นั้น ได้กระทำภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 อยู่ใน บังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

ถาม  นาย ก มีพี่น้องรวม 6 คน ได้รับทรัพย์มรดกที่ดิน เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 44 1/10 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถว 2 ชั้น จำนวน 38 คูหา และตึกแถว 2.75 ชั้น จำนวน 6 คูหา รวมทั้งสิ้น 44 คูหาจากบิดาซึ่งถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2527 ตึกแถวดังกล่าวสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 โดยบิดาได้ให้เช่าและสัญญาเช่ามีภาระผูกพันถึงเดือนมกราคม 2530 เมื่อครบสัญญาเช่าผู้จัดการมรดกทั้ง 6 คนประสงค์จะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งแปลง แต่ไม่สามารถขายได้ เนื่องจากต้องฟ้องให้ผู้เช่าออก ตึกแถวดังกล่าวมิได้ให้เช่าและไม่ได้รับค่าเช่ามาหลายปีแล้ว แต่ต้องเสียภาษีโรงเรือนเพราะเคยให้เช่าและมีผู้อาศัยอยู่ผู้จัดการมรดกทั้ง 6 คนได้ร่วมกันฟ้องเพื่อขับไล่ผู้เช่าออกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2537 และตกลงกันได้โดยผู้เช่าประสงค์จะซื้อที่ดินพร้อมตึกแถว ผู้จัดการมรดกทั้ง 6 คน ได้จดทะเบียนโอนมรดกให้ทายาททั้ง 6 คนเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 และจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้ทายาททั้ง 6 คน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2540 โดยในส่วนของนาย ก ได้รับมรดกที่ดินพร้อมตึกแถว เนื้อที่ 1 งาน 02 8/10 ตารางวา และต่อมานาย ก ได้แบ่งแยกโฉนดที่ดินในนามเดิมออกเป็น 8 โฉนด ตามจำนวนเนื้อที่ของตึกแถวแต่ละคูหา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 และขายที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2541 จำนวน 5 คูหา วันที่ 6 พฤษภาคม 2541 จำนวน 1 คูหา และวันที่ 17 มิถุนายน 2541 จำนวน 1 คูหา การขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ตึกแถว) ของผู้รับมรดกแต่ละคน จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือภาษีประเภทใดหรือไม่อย่างไร
      ตอบ  1. กรณีตามข้อเท็จจริง ผู้จัดการมรดก จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและโอน อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ตึกแถว) จำนวน 44 คูหา ให้ทายาทจำนวน 6 คน หลังจากนั้น นาย ก ทายาทได้แบ่งแยกโฉนดที่ดินในนามเดิมออกเป็นแปลงย่อย จำนวน 8 แปลง ตามจำนวนเนื้อที่ของตึกแถวแต่ละคูหาแล้วขายอสังหาริมทรัพย์นั้นไปตามสภาพเดิมที่รับโอนมา หรือกรณีแบ่งขายเฉพาะส่วน ซึ่งมิได้มีการปรับปรุงหรือพัฒนา หรือทำสาธารณูปโภคใด ๆ อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดสรร ย่อมไม่เข้าลักษณะการขายในลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดสรรที่ดิน ตามมาตรา 3 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 แต่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 3 (6) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534
                 2. เงินได้จากการขายที่ดินอันเป็นมรดกตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้จึงมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมีสิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อย่างอื่นก็ได้ ตามมาตรา 48 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร โดยนำเงินได้จากการขายที่ดินอันเป็นมรดกหักค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 ของเงินได้ เหลือเท่าใดถือเป็นเงินได้สุทธิแล้วหารด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้คำนวณตามอัตราภาษีเงินได้ ได้เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเงินภาษีที่ต้องเสีย ซึ่งเมื่อคำนวณภาษีแล้วต้องเสียไม่เกินร้อยละ 20 ของราคาขายวิธีการดังกล่าวไม่มีการหักลดหย่อนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร
               ในกรณีเลือกเสียภาษีโดยนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อย่างอื่น ให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 ของเงินได้เหลือเท่าใดนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อย่างอื่นตามวรรคสามของมาตรา 48 (4) แห่งประมวลรัษฎากร

ถาม  นาง ก. ได้จดทะเบียนสมรสกับ นาย ข. เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2515 นาย ข. ได้ซื้อที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1 งาน 8 ตารางวา เมื่อปี พ.ศ. 2524 นาย ข. ได้ทำสัญญายกที่ดินแปลงดังกล่าวให้นาง ก.ปี พ.ศ. 2535 นาง ก. ได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับนาย ค. ปี พ.ศ. 2537 ขอทราบว่า การขายที่ดินดังกล่าวจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เฉพาะส่วนที่สามียกที่ดินให้และถือครองไม่เกิน 5 ปี ถูกต้องหรือไม่
       ตอบ  กรณีนาง ก. ขายที่ดินสินสมรสทั้งแปลงให้กับบุคคลอื่นตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เฉพาะการขายที่ดินส่วนที่สามีโอนให้กึ่งหนึ่งเท่านั้น เป็นการขายภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 นาง ก. มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับส่วนที่นาง ก. ถือครองร่วมกับสามีมาโดยตลอดนับแต่วันที่ได้มาซึ่งที่ดินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และขายที่ดินดังกล่าวไปเมื่อปี พ.ศ. 2537 เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำเกินกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ถาม  นางสาว ก. และน้องสาว ได้ร่วมกันซื้อบ้านและที่ดิน ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2535 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2539 นางสาว ก. และน้องสาว ได้ขายบ้านและที่ดินดังกล่าว โดยนางสาว ก. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านดังกล่าวเป็นเวลา 1 ปี 10 เดือน แต่เพียงผู้เดียวแต่น้องสาวไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านดังกล่าวจึงได้ไปยื่นเสียภาษีธุรกิจเฉพาะโดยคำนวณจากจำนวนกึ่งหนึ่งของรายรับที่ได้รับจากการขายบ้านและที่ดินนั้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2539 เป็นเงินภาษี 82,500 บาท แต่ในขณะนี้นางสาว ก. ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ให้ยื่นเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มเติม กรณีเสียไว้ไม่ครบถ้วน จึงขอทราบว่า
                   1. น้องสาวได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จากจำนวนกึ่งหนึ่งของรายรับที่ได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2539 ถูกต้องหรือไม่ และ
                   2. นางสาว ก. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านดังกล่าวไม่น้อยกว่า 1 ปี ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
       ตอบ  1. นางสาว ก. และน้องสาวได้ร่วมกันซื้อบ้านพร้อมที่ดิน โดยมิได้มีการแบ่งหรือกำหนดส่วนของการถือกรรมสิทธิ์ว่าของใคร ตอนใด เป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใดให้ชัดเจนแล้ว จึงถือว่าเป็นเจ้าของรวมกันและมีส่วนเท่ากัน ตามมาตรา 1357 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                  2. การขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้มา เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 กรณีตามข้อเท็จจริง
                      2.1 นางสาว ก. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านดังกล่าวเป็นเวลา 1 ปี 10 เดือน และถ้าได้อาศัยอยู่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีนับแต่วันที่ได้มา การขายบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวเฉพาะในส่วนของนางสาว ก. เองแม้จะเป็นการขายภายใน 3 ปี 7 เดือนนับแต่วันที่ได้มา ไม่เข้าลักษณะเป็น การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 3 (6) (ค) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับ ที่ 244) พ.ศ. 2534 ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
                      2.2 น้องสาวไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านดังกล่าว เมื่อได้ขายบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวเฉพาะในส่วนของตนเองภายใน 3 ปี 7 เดือนนับแต่วันที่ได้มา เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 3.0 โดยคำนวณจากจำนวนกึ่งหนึ่งของรายรับที่ได้รับหรือพึงได้รับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ตามมาตรา 91/2 (6) และมาตรา 91/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

ถาม  กรมที่ดินหารือแนวทางปฏิบัติในการเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ ราย บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้ บรรษัทฯ ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดของสำนักงานบังคับคดีจังหวัดฯ ได้นำโฉนดที่ดิน ซึ่งมีชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัดฯ เพื่อจดทะเบียนระงับจำนอง (ศาลขายบังคับจำนอง) และขายตามคำสั่งศาลตามหนังสือศาลจังหวัดฯ จังหวัดฯ เห็นว่า การจดทะเบียนดังกล่าวอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 แต่บรรษัทฯ ไม่ยินยอมเสียภาษีธุรกิจเฉพาะโดยอ้างว่าภาระในการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นของผู้ขาย และยืนยันให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนระงับจำนอง(ศาลขายบังคับจำนอง)และขายตามคำสั่งศาลให้แก่บรรษัทฯ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจดทะเบียนดังกล่าวให้แก่บรรษัทฯ ได้หากไม่มีการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/10 วรรคหก แห่งประมวลรัษฎากร กรมที่ดินมีความเห็นเช่นเดียวกับจังหวัดฯ ว่า กรณีดังกล่าวอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 แต่เนื่องจากผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดเป็นผู้นำหนังสือของศาลพร้อมด้วยหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปขอจดทะเบียนแต่เพียงฝ่ายเดียว เจ้าของที่ดินที่ถูกขายทอดตลาดซึ่งถือว่าเป็นผู้ขายไม่ได้ไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่อาจจดทะเบียนขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อได้ อันทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาด จึงหารือว่าการจดทะเบียนขายทอดตลาดที่ดินตามคำสั่งศาลรายนี้ จะต้องเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรหรือไม่ ที่จะทำให้สามารถจดทะเบียนสิทธิให้แก่ผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดได้
        ตอบ  ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และเป็นที่ดินที่ห้างฯ มีไว้ในการประกอบกิจการ การขายที่ดินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ห้างฯ เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าว โดยห้างฯ ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พร้อมกับชำระภาษีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้น โดยให้กรมที่ดิน เรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อกรมสรรพากร และห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ลงนามรับรู้ ยอมให้ทำหรือบันทึกไว้จนกว่าจะได้รับเงินภาษีที่ต้องชำระให้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว ตามมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 34) พ.ศ. 2541 อย่างไรก็ตาม หากมีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีในนามของห้างฯ ในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพร้อมกับชำระภาษีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นให้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่บรรษัทฯ ผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดได้

ถาม  ตัวแทนผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ได้ทำการซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด ณ กรมบังคับคดี จังหวัดจันทบุรี จึงหารือว่าในการขายทอดตลาดที่ดินหากจำเลยในคดีนั้นไม่ได้มีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว ผู้ซื้อทอดตลาดจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในการจดทะเบียนสิทธิและ นิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือไม่ 
       ตอบ  การขายอสังหาริมทรัพย์โดยวิธีการขายทอดตลาด หากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น กฎหมายกำหนดให้บุคคลซึ่งประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นผู้เสียภาษี ตามนัยมาตรา 91/7 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เจ้าของที่ดินที่ถูกขายทอดตลาดจึงเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่กรณีประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดี เรื่อง การขายทอดตลาด ได้มีข้อสัญญาระบุให้ผู้ซื้อเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอน และค่าภาษีอากรจากการขายที่ดินตามประมวลรัษฎากร จึงเป็นกรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดตกลงกับเจ้าพนักงานบังคับคดีตามข้อสัญญาดังกล่าว ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรจากการซื้อที่ดินดังกล่าว

ถาม  สำนักงานสรรพากรภาค แจ้งว่า สำนักงานที่ดินจังหวัดฯ ได้มีหนังสือหารือแนวทางปฏิบัติกรณี นาย ว.ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนรับโอนที่ดินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1045 ตำบลแก่งกระจานอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีนาย ส. เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง สำนักงานที่ดินจังหวัดฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วปรากฏว่า (1). นาย ส. ได้ซื้อที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1045 ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2537 (2). นาย ว. ได้ซื้อที่ดิน น.ส.3 ก. ดังกล่าวจากการขายทอดตลาดจำนวน 2,400,000 บาท และตกลงทำสัญญาขายทอดตลาดกับคณะกรรมการจัดการขายทอดตลาดตามคำสั่งจังหวัดฯ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2542 พร้อมทั้งได้วางเงินมัดจำร้อยละ 25 ของราคาขายจำนวน 600,000 บาท และได้ชำระส่วนที่เหลือ 1,800,000 บาทเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2542 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,400,000 บาท (3). เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2542 นาย ว. ได้ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดิน น.ส.3 ก.ที่ซื้อจากการขายทอดตลาดให้ตนเอง (4). สำนักงานที่ดินอำเภอฯ เห็นว่า นาย ว. ซื้อที่ดิน น.ส.3 ก. จากการขายทอดตลาดและได้ทำสัญญาขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2542 อยู่ในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2537 (วันที่ นาย ส.เจ้าของเดิมซื้อที่ดินแปลงนี้) เจ้าพนักงานที่ดินจึงต้องเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ แม้ นาย ว. จะยื่นคำขอจดทะเบียนโอนที่ดินจากการขายทอดตลาดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2542 ซึ่งพ้นกำหนดเวลา 5 ปีแล้วก็ตาม กรณีดังกล่าวยังไม่ได้กำหนดแนวปฏิบัติไว้ จึงหารือว่า เจ้าพนักงานที่ดินจะต้องเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจาก นาย ว.ในขณะจดทะเบียนหรือไม่ สำนักงานสรรพากรภาค เห็นว่า กรณี นาย ว. ซื้อที่ดิน น.ส.3 ก. จากการขายทอดตลาด และทำสัญญาขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2542 อยู่ในระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2537 ซึ่ง นาย ส.ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็น ทางค้าหรือหากำไร เนื่องจากเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 4(6)(ค) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนจึงต้องเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ
       ตอบ  กรณีตามข้อเท็จจริง นาย ว. ได้ซื้อที่ดินของ นาย ส. ซึ่งขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2542 โดยได้ทำสัญญาขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2542 และนาย ว. ได้ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดิน น.ส.3 ก. ที่ซื้อจากการขายทอดตลาดให้ตนเอง เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2542 เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ นาย ส. ได้ซื้อที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1045 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2537 ถึงวันที่มีการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2542 เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เกินกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 4(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 และ คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 82/2542 เรื่อง การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542

ถาม  นาย บ. และภรรยา ได้ขายอาคารชุดเลขที่ 158/46 บ้านปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ราคา ทุนทรัพย์ 2,900,000.- บาท แก่นางวัน เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2545 ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวาง โดยที่เจ้าหน้าที่ได้จัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์จำนวนเงิน รวม 8,850.- บาท ไว้แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3 ได้แจ้งให้นาย บ. ทราบว่า จ่ายค่าอากรแสตมป์ไม่ครบ ต้องจ่ายเงินเพิ่มและเสีย ค่าปรับเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 14,490.- บาท นาย บ. จึงขอให้ยกเว้นการเรียกเก็บอากรแสตมป์และค่าปรับดังกล่าวเนื่องจากการที่ชำระค่าอากรขาดไปนั้น เป็นความผิดพลาดของพนักงานเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาห้วยขวาง โดยนาย บ. มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด
      ตอบ  นาย บ. และภรรยาขายอาคารชุดตามข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยมีชื่อคู่สมรสอยู่ในทะเบียนบ้านเกินกว่า 1 ปี เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวาง ได้เรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์เพียงกึ่งหนึ่ง โดยสำคัญผิดว่า นาย บ. และภรรยาได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะเพียงครึ่งเดียว ซึ่งไม่ถูกต้อง และที่ถูกต้องการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรส คู่สมรสทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย การขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.82/2542 ฯ ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นเหตุให้นาย บ.และภรรยาต้องเสียอากรแสตมป์จากใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยต้องรับผิดชำระค่าอากรและเงินเพิ่มตามมาตรา 113 และมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ความผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นจากความสำคัญผิดในข้อกฎหมายของเจ้าพนักงานที่ดิน และนาย บ. และภรรยามิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรเนื่องจากได้เสียอากรบางส่วนตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บแล้ว กรณีมีเหตุอันสมควรขยายเวลาการชำระอากรแสตมป์ตามที่ร้องขอตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากรโดยให้ยื่นแบบชำระอากรเป็นตัวเงินตามมาตรา 116 แห่งประมวลรัษฎากร ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักงานสรรพากรภาค โดยไม่ต้อง ชำระเงินเพิ่มแต่อย่างใด

ถาม  บริษัทฯ ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทให้เช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ได้ ขายฝากที่ดินเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2540 ซึ่งได้มาโดยการซื้อเมื่อปี พ.ศ. 2518 กรณีดังกล่าว (1). การขายฝากที่ดินดังกล่าวจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ ถ้าเสียจะใช้ราคาประเมินของกรมที่ดินหรือราคาขายฝาก (2). เงินที่ได้จากการขายฝากจะต้องนำมาคำนวณรายได้ของบริษัทฯ ในปี พ.ศ.2540 หรือไม่ และจะถือราคาใด (3). เมื่อถึงกำหนดเวลาไถ่ถอนที่ดินในปี พ.ศ. 2542 จะถือเป็นการซื้อที่ดินใหม่หรือไม่
       ตอบ  ตามข้อเท็จจริงการที่บริษัทฯ ได้ขายฝากที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2540 เข้าลักษณะเป็นการ "ขาย" ตามคำนิยามมาตรา 39 และมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นผล ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโอนไปยังผู้ซื้อฝากเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น (1). การขายฝากที่ดินที่บริษัทฯ ได้มาโดยการซื้อเมื่อปี พ.ศ.2518 เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร รายรับที่จะนำมาคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร คือรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้รับหรือพึงได้รับ เนื่องจากการประกอบกิจการตามมาตรา 91/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือราคาขายฝากที่ดินตามความเป็นจริง แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่พึงได้รับตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน หรือราคาที่พึงได้รับตามราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น (2). เงินได้จากการขายฝากที่ดินของบริษัทฯ ถือเป็นรายได้เนื่องจากการประกอบกิจการบริษัทฯ ต้องนำรายได้ดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีรายได้นั้นจำนวนรายได้ให้ถือตามราคาขายฝากที่ดิน ตามความเป็นจริง แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น (3). การใช้สิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากคืน เป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 491 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ถือว่าเป็นการซื้อที่ดินใหม่แต่อย่างใด

ถาม  นาย ส. ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุด กับบริษัท พ. จำกัด โดยสัญญาฯ ระบุว่า “ค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษี และค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ซื้อเป็นผู้ชำระทั้งสิ้น” ซึ่งนาย ส. เห็นว่าการผลักภาระภาษีดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้ซื้อ จึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคพิจารณา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นว่า กรณีผู้บริโภคได้ชำระค่า ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะและรายได้ส่วนท้องถิ่นตามใบเสร็จรับเงินของกรมที่ดินจะถูกต้องและชอบด้วยประมวลรัษฎากรหรือไม่อย่างไร
       ตอบ  กรณีบริษัทฯ ขายห้องชุดในอาคารชุดให้แก่นาย ส. ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร บริษัทฯ มีภาระภาษีดังนี้ (1). ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่จ่ายให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งขายอสังหาริมทรัพย์ คำนวณหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 แล้วนำส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ในขณะที่มีการจดทะเบียน (2). ภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้นำรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นมาคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 3.3 (รวมภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรายได้ส่วนท้องถิ่น) อย่างไรก็ตาม กรณีนาย ส. ผู้จ่ายเงินได้ออกค่าภาษีตาม (1) และ (2) แทนบริษัทฯ ค่าภาษีที่จ่ายแทนดังกล่าวถือเป็นรายได้ ซึ่งบริษัทฯ ต้องนำไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และถือเป็นรายรับที่บริษัทฯ ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร

ถาม  นาง ว. กับพวกอีก 15 คน ได้ร่วมกันซื้อที่ดินจำนวน 163 ตารางวา และร่วมกันยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคารพักอาศัย สูง 8 ชั้น พื้นที่อาคารรวม 2,203 ตารางเมตร จัดแบ่งเป็นห้องพักอาศัยได้ 19 ยูนิตโดยเจ้าของร่วมทุกคนจะได้รับสิทธิในการถือครองพื้นที่ห้องพักอาศัยตามที่ได้ตกลงกันไว้ เมื่ออาคารแล้วเสร็จ นาง ว. กับพวกได้ยื่นจดทะเบียนอาคารชุดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 เพื่อให้เจ้าของร่วมแต่ละรายได้รับเอกสารสิทธิแสดงการถือครองห้องชุดของตนเองได้ แต่เมื่อจดทะเบียนอาคารชุดเรียบร้อยพร้อมกับได้รับหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดรวม 19 ยูนิต กลับปรากฏชื่อเจ้าของร่วมทุกคนในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดแต่ละยูนิตทั้ง 19 ยูนิต นาง ว. กับพวกจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการโอนแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ห้องชุดระหว่างกันทั้ง 19 ยูนิต เพื่อที่จะทำให้เจ้าของห้องชุดแต่ละรายสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดของตนเองได้อย่างถูกต้องโดยไม่มีชื่อเจ้าของห้องชุดรายอื่น นาง ว. จึงขอหารือว่า การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแลกเปลี่ยนกันตามข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยไม่มีค่าตอบแทน จะต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
       ตอบ  เนื่องจาก นาง ว. กับพวกได้เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมพร้อมกัน และได้เข้าร่วมลงทุนก่อสร้างอาคารชุดมาด้วยกันตั้งแต่ต้น ภาระภาษีของ นาง ว. กับพวกเป็นดังนี้ (1). การโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดในห้องชุดแต่ละห้องชุดให้กับบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของร่วมตามบันทึกข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้โดยไม่มีค่าตอบแทน ถือเป็นการ “ขาย” ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร โดยถือว่าผู้โอนเป็นผู้มีเงินได้ และมีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียนตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และ นาง ว. กับพวกมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (แบบ ภ.ง.ด.90) และชำระภาษีในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล โดยไม่มีสิทธิจะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(4) แห่งประมวลรัษฎากร (2). การโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดดังกล่าวถือเป็นการขายตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับมาตรา 4(2) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 โดย นาง ว. กับพวกต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

ถาม  นาย ก. ได้ซื้อที่ดิน ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2535 ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้นาง ข. ภริยาซึ่งจดทะเบียนสมรสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 โดยไม่มีค่าตอบแทน แต่ได้ตีราคาที่ดินเป็นเงิน500,000 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานได้กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ 736,000 บาท ทราบว่าที่ดินดังกล่าว เป็นสินสมรส ภริยาย่อมมีสิทธิในที่ดินนั้นกึ่งหนึ่ง กรณีจึงถือว่าสามีขายที่ดินในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนให้ กับภริยาภายใน 5 ปี นับแต่วันได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ถูกต้องหรือไม่
       ตอบ  ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส ถือเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สามีและภริยาย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นคนละกึ่งหนึ่ง กรณีตามข้อเท็จจริงนาย ก. ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาในระหว่างสมรสให้แก่ภริยาโดยไม่มีค่าตอบแทน จึงเป็นการยกส่วนของตนให้กับภริยาภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงมีหน้าที่เสียภาษีอากร ดังนี้ (1). ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวถือเป็นการขายตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ถือว่าผู้โอนเป็นผู้มีเงินได้ตามมาตรา 41 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณเงินได้จากราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น ทั้งนี้ เฉพาะส่วนของผู้โอน และถือว่าผู้โอนเป็นผู้จ่ายเงินได้ตามมาตรา 50 (6) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามเกณฑ์ใน มาตรา 50 (5) แห่งประมวลรัษฎากร (2). ภาษีธุรกิจเฉพาะ การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวถือเป็นการขายตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งที่ดินนั้น เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากรโดยฐานภาษีให้ใช้ราคาที่ดินตามสัญญาซื้อขาย (ราคาที่ได้ตีราคา) หรือราคาประเมินแล้วแต่อย่างใดจะ สูงกว่ากันตามมาตรา 91/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนของผู้โอนนั้น

ถาม  สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ แจ้งว่าได้รับโอนข้อมูลการขายอสังหาริมทรัพย์ราย นาง ก กับพวกรวม 4 คน ซึ่งขายที่ดินจังหวัดปทุมธานี ราคาทุนทรัพย์ 44,734,000 บาท สำนักงานภาษี สรรพากรพื้นที่ ได้ทำการไต่สวนตรวจสอบการเสียภาษีอากรของคณะบุคคลดังกล่าว ปรากฏว่า คณะบุคคลราย นาง ก กับพวก ได้ทำสัญญาซื้อที่ดินจากบุคคลอื่นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2534 โดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันเป็นส่วน ๆ คือ นาง ก ถือกรรมสิทธิ์ 5,400.0 ส่วน นาย ข ถือกรรมสิทธิ์ 2,834.5 ส่วน นาง ค ถือกรรมสิทธิ์ 19,100.0 ส่วน นาง ง ถือกรรมสิทธิ์ 17,400.0 ส่วน (ปัจจุบันถึงแก่กรรม) ต่อมาคณะบุคคลดังกล่าวได้ทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ บริษัท เอ จำกัด และบริษัท บี จำกัด ไปเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2535 เป็นเงิน 44,734,000 บาท และได้มีการแยกยื่นการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามส่วนของตน ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 ดังนี้ นาง ก จำนวน 166,496 บาท นาย ข จำนวน 317,192 บาท นาง ค จำนวน 1,121,922 บาท รวมทั้งสิ้น 1,605,610 บาท นาง ก กับพวก ได้นำสำเนาแบบแสดงรายการ ภ.ธ.40 และสำเนาใบเสร็จรับเงินดังกล่าวไปมอบให้เจ้าพนักงานประเมินเพื่อประกอบการพิจารณา และได้แจ้งว่านาง ง ถึงแก่กรรมแล้วจึงไม่ได้ยื่นรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ เห็นว่า การขายที่ดินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขาย อสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามนัยมาตรา 81/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรฯ (ฉบับที่ 244)พ.ศ. 2534 โดยต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในนามของคณะบุคคลฯ จึงขอทราบว่า ความเห็นของสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ ถูกต้องหรือไม่
      ตอบ  (1). ตามข้อเท็จจริง แม้จะได้มีการบรรยายส่วนการถือกรรมสิทธิ์ไว้ แต่หากไม่ได้จดทะเบียนบรรยายถึงว่า ของใครอยู่ส่วนไหนเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใดชัดแจ้งแล้ว กรณีถือได้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ตามมาตรา 1356 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับเมื่อตามข้อเท็จจริง บุคคลทั้งหมดได้ที่ดินดังกล่าวมาพร้อมกันและได้ขายให้กับผู้ซื้อซึ่งเป็นบริษัทเดียวกันในเวลาพร้อมกันมิใช่แต่ละคนแบ่งแยกขายเฉพาะส่วนของตน กรณีถือได้ว่าบุคคลเหล่านั้นมีเจตนาร่วมลงทุนในการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว จึงต้องเสียภาษีในนามห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมแต่ละคนจะแยกยื่นเสียภาษีในนามของตนเองไม่ได้

       (2). ตามข้อเท็จจริง เมื่อนาง ก และพวก คือนาย ข และนาง ค ได้นำรายรับที่ได้จากการขายที่ดินตามส่วนที่ตนมีไปยื่นแบบ ภ.ธ.40 เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในนามของแต่ละบุคคลแล้ว เข้าลักษณะเป็นการยื่นแบบแสดงรายการผิดหน่วยภาษี เนื่องจากในการเสียภาษีในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล บุคคลผู้เข้าร่วมในคณะบุคคลดังกล่าวต้องรับผิดร่วมกัน เพื่อหนี้ ทั้งปวงของห้างโดยไม่มีจำกัด ทั้งนี้ ตามมาตรา 1025 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น นาง ก และพวกอีก 3 คนจึงต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ภาษีอากรจากการขายที่ดินดังกล่าว โดยกรมสรรพากร มีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แค่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง ทั้งนี้ ตามมาตรา 291 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ถาม  นาย ก. ได้รับมรดกที่ดินและบ้านจากมารดา เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2519 ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2539 นาย ก. ได้แบ่งแยกโฉนดในนามเดิมแล้วขายที่ดินที่แบ่งแยกและบ้านดังกล่าวไป เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2540 นาย ก. จะต้องเสียภาษีประเภทใด หรือไม่
       ตอบ  (1). ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินที่ได้รับจากการขายที่ดินและบ้านอันเป็นมรดก เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้าที่ดินและบ้านดังกล่าวตั้งอยู่นอกเขต กรุงเทพมหานคร เทศบาล สุขาภิบาล หรือเมืองพัทยาหรือการปกครองท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ ทั้งนี้เฉพาะเงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 200,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบข้อ 2(17) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร สำหรับเงินได้ ส่วนที่เกิน 200,000 บาท ให้ผู้ซื้อมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งต่อเจ้าพนักงานที่ดินในขณะที่มีการจดทะเบียนตามมาตรา 50(5)(ก) และมาตรา 52 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ ผู้ขายจะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินจากการขายที่ดินดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่นๆ (ถ้ามี) ก็ได้ ตามมาตรา 48(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร

        (2). ภาษีธุรกิจเฉพาะ การแบ่งแยกที่ดินอันเป็นมรดกดังกล่าวในนามเดิม กรณีไม่ถือว่าเป็นการ "ขาย" ตามคำนิยามตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร การนับจำนวนปีที่ได้มาของที่ดินต้องนับตามกำหนดเวลาที่ได้มาแต่เดิม คือวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2519 ดังนั้น เมื่อต่อมาได้ขายที่ดินพร้อมบ้านซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินที่แบ่งแยกดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2540 จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำเกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ไม่ถือเป็น การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 แต่อย่างใด

ถาม  ผู้จัดการมรดกของนาย สุ. ได้ขายที่ดินและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ณ กรมที่ดิน โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้

          (1). วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 นาย สุ. นาย อา. และนาย สิน. ได้ร่วมกันซื้อที่ดินมาเพื่อขายโดยระบุชื่อทั้ง 3 คนในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้แก่ที่ดิน น. ส. 3 ก.

         (2). วันที่ 13 สิงหาคม 2543 นาย สุ. ได้ถึงแก่กรรม ก่อนศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ได้มีบุคคลภายนอกมาขอซื้อที่ดินดังกล่าว เนื่องจากขณะนั้นคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนาย สุ. อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ทำให้คณะบุคคลไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนของนาย สุ. ให้แก่ผู้ซื้อได้ ดังนั้น ในวันที่ 23 สิงหาคม 2543 นาย อา. และนาย สิน. ได้ร่วมกันขายที่ดิน น. ส. 3 ก. เฉพาะส่วนของแต่ละคนให้แก่ นาง ท.โดยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในนามของคณะบุคคลฯ

         (3). วันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง นาย ธ. เป็นผู้จัดการมรดกของนาย สุ. (4). วันที่ 13 ธันวาคม 2543 นาย ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย สุ. ได้ขายที่ดิน น. ส. 3 ก. เฉพาะส่วนของตนให้แก่นาง ท. (5). วันที่ 25 เมษายน 2544 นาย ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย สุ. นาย อา. และนาย สิน. ได้ร่วมกันขายที่ดิน น. ส. 3 ก. ให้แก่นางสาว วา. โดยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเสียภาษี ธุรกิจเฉพาะในนามคณะบุคคล
       ตอบ  กรณีการขายที่ดินตาม (1) โดย นาย สุ. นาย อา. และนาย สิน. ได้ร่วมกันซื้อไว้ 2 แปลง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ต่อมา นาย สุ. ถึงแก่กรรมและศาลยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก นาย อา. กับ นาย สิน. เพียง 2 คนได้ร่วมกันขายที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่นาง ท. ไปบางส่วน เมื่อศาลได้มีคำสั่ง แต่งตั้งนาย ธ. เป็นผู้จัดการมรดกนาย ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงได้ขายที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่นาง ท. จากนั้นบุคคลทั้งสามก็ได้ร่วมกันขายที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้แก่นางสาว ว. ตามข้อเท็จจริงข้างต้น ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมที่ได้ร่วมกันซื้อมาและร่วมกันขายไปเพื่อหากำไร โดยมีเจตนาร่วมลงทุนในการซื้อที่ดินดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่จดทะเบียนหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ดังนั้น เมื่อขายที่ดินในกรณีนี้ไปภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้า หรือหากำไร จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) และแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ ในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่จดทะเบียน หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ทั้งนี้ การขายอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามข้อยกเว้นในลักษณะแห่งตราสาร 28. ใบรับแห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์

ถาม  สำนักงานที่ดินจังหวัดได้หารือ กรณี นาง ส. ได้นำโฉนดที่ดินจังหวัดนนทบุรี ซึ่งนาง ส. ได้จดทะเบียนให้ที่ดินแก่ นางสาว ว. บุตรชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 ปัจจุบันมีชื่อ นางสาว ว. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ไปขอจดทะเบียนถอนคืนการให้ เพราะเหตุประพฤติเนรคุณตามคำพิพากษาศาลจังหวัดลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 ซึ่งพิพากษาให้นาง จ. (หรือนาง ว.) จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ถอนคืนการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวแก่นางสุดใจ ต่างใจ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ผู้ขอถอนคืนการให้เสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แต่นาง ส. ผู้ขอถอนคืนการให้ยืนยันว่า การ จดทะเบียนถอนคืนการให้ตามคำพิพากษาของศาล มิใช่การซื้อขายและไม่มีค่าตอบแทนโดยเป็นการทำนิติกรรมให้กลับสู่สภาพเดิม ไม่ถือเป็นรายได้ของผู้ถอนคืนการให้ ไม่ควรจะต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
       ตอบ  (1). ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปเป็นของผู้ให้โดยการถอนคืนการให้ตามคำสั่งศาล เข้าลักษณะเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องหัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร

        (2). ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปเป็นของผู้ให้โดยการถอนคืนการให้ตามคำสั่งศาล เข้าลักษณะเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หาก เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนให้แก่ผู้ให้ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ผู้รับให้ได้มาซึ่งที่ดินนั้น ย่อมอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(6) แห่ง พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541

ถาม  กรณีผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นนิติบุคคล พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ อย่างไร
       ตอบ  การคำนวณเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณี ผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นนิติบุคคลให้คำนวณเรียกเก็บ ดังนี้
                  1.ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นนิติบุคคลและได้รับค่าทดแทนตามกฎหมาย ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จะต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยให้รัฐบาล องค์การของรัฐบาลฯ ผู้จ่ายค่าทดแทนมีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษี ณ ที่ว่าการอำเภอในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนเงินค่าทดแทนที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เท่านั้น ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งในอัตราร้อยละ 1 ในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด และให้ปฏิบัติตามข้อ 8(8.2) ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการรับชำระและนำส่งภาษีอากรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2542 ประกอบกับนิยาม “ราคาขาย” ตามข้อ 4 ของระเบียบกระทรวงการคลังฯ ดังกล่าว
                 2.ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นนิติบุคคล และได้รับค่าทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 สำหรับการโอนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2542 หรือตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 สำหรับการโอนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อกรมสรรพากรในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในอัตราร้อยละ 3.3 ของรายรับจากค่าทดแทน ตามมาตรา 91/5(6) มาตรา 91/6(3) และมาตรา 91/10 วรรคหก แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม หากกรณีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้กระทำตั้งแต่วันที่ 5กรกฎาคม 2543 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 ให้ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/6(3) แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 ของรายรับจากค่าทดแทนดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 366) พ.ศ. 2543 พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 402) พ.ศ. 2545 และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 413) พ.ศ. 2545

ถาม  บริษัท ก. จำกัด ได้ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่การไฟฟ้านครหลวงเพื่อใช้ในการก่อสร้างสถานีย่อยสำหรับจ่ายไฟฟ้าให้แก่หน่วยราชการ และประชาชนทั่วไป กรณีดังกล่าวบริษัทฯ ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
       ตอบ  กรณีตามข้อเท็จจริงบริษัทเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการ ประกอบการค้าหากำไร เมื่อบริษัทฯ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่การไฟฟ้าฯ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจโดยไม่มีค่าตอบแทนบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากร ดังนี้
                  1. ภาษีธุรกิจเฉพาะ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ถือเป็นการขายตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ถือเป็นการขาย อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244)ฯ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร โดย คำนวณรายรับจากราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น
                  2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการขายตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 121) พ.ศ.2525 แต่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ บริษัทฯ มีสิทธิ์นำมูลค่าของที่ดินดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีธุรกิจเฉพาะที่บริษัทได้ชำระไว้แล้ว บริษัทฯ มีสิทธิ์นำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ทั้งจำนวน

ถาม   บริษัท ฟ. ประกอบธุรกิจประเภทการแปรรูปเนื้อสัตว์ และต้องการปรับโครงสร้างการประกอบธุรกิจให้มีลักษณะเป็นการผลิตอาหารแบบครบวงจรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบกิจการ บริษัทฯ จึงได้ขายทรัพย์สินที่มีไว้ใช้ในการประกอบกิจการตลอดจนที่ดินที่ใช้ในการประกอบกิจการให้แก่บริษัท ซ. จำกัด โดยการขายที่ดินดังกล่าว ได้ตกลงซื้อขายกันตามราคาที่บริษัทผู้ประเมินราคาอิสระได้ประเมินราคาไว้ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
                    1.กรณีผู้ประเมินราคาอิสระได้ประเมินราคาที่ดินแปลงหนึ่งต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน และกรมที่ดินได้ใช้ฐานราคาประเมินของกรมที่ดินคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายที่ดินดังกล่าว บริษัทฯ ต้องถือรายได้จากการขายที่ดินดังกล่าวตามราคาประเมินของกรมที่ดินในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ใช่หรือไม่ และต้องนำรายรับจากการขายที่ดินตามราคาประเมินของกรมที่ดินมารวมคำนวณเป็นรายรับของกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยหรือไม่
                   2.กรณีผู้ซื้อเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมการโอน รวมทั้งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะ บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ขายต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ และต้องนำไปเฉลี่ยภาษีซื้อเพื่อคำนวณเป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ใช่หรือไม่
       ตอบ  1. กรณีบริษัทฯ ขายที่ดินที่ใช้ในการประกอบกิจการให้แก่บริษัท ซ. แยกพิจารณาภาระภาษีได้ ดังนี้
                      1.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ ต้องนำรายได้จากการขายที่ดินมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยนำรายได้ดังกล่าวหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขทีระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งการคำนวณกำไรสุทธิจากการขายที่ดินดังกล่าว บริษัทฯ ต้องคำนวณราคาขายให้เป็นไปตามราคาตลาด ซึ่งเป็นราคาซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง และคู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกันพึงกำหนดโดยสุจริตในทางการค้า ที่มีลักษณะประเภทและชนิดเช่นเดียวกันในวันที่มีการโอน ทั้งนี้ หากราคาขายที่ดินดังกล่าวต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดในวันที่มีการโอนได้ ตามมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งประมวลรัษฎากร
                      1.2 ภาษีธุรกิจเฉพาะ บริษัทฯ ขายที่ดินที่ใช้ในการประกอบกิจการ เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร
                  2.กรณีผู้ซื้อเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมการโอน รวมทั้งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะตามข้อตกลงในสัญญาซื้อขาย บริษัทฯ ต้องนำมารวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/5 แห่งประมวลรัษฎากร
                  3.บริษัทฯ ต้องนำรายได้ที่ได้รับจากการขายที่ดินดังกล่าว ตลอดจนค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีธุรกิจเฉพาะที่ผู้ซื้อออกแทนให้ มาคำนวณเป็นฐานภาษีของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 และข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535

Source: www.dol.go.th, www.rd.go.th

Copyright (c) 2008 by Vatchara Thamma Land Law Office Company Limited.